Works Conversation of Breath no.7

Artists :

CONCEPT :

ชล เจนประภาพันธ์ / 2015
การวาดเส้น (drawing) คือภาษาพื้นฐานทางศิลปะที่ยังคงเป็นอมตะในโลกของการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในฐานะเทคนิคที่ปฏิบัติการแบบฉับพลัน ตรงไปตรงมา สามารถสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างมือกับจิตโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น จิรัชยา พริบไหว กับผลงานของเธอที่สร้างบทสนทนาต่อผู้ชมตลอดมา ในฐานะงานศิลปะที่ไม่ได้นำเสนอในฐานะงานนามธรรม และไม่ได้เป็นภาพตัวแทนของวัตถุใดๆ ที่เราเคยรู้จัก (nonrepresentational form) มีหลากหลายทัศนะพูดถึงผลงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงกับกระบวนการที่มาที่ไปทางเทคนิค หรือชีวิตของศิลปินที่มักจะได้รับการสังเกตควบคู่กับกระบวนการทำงานศิลปะ ซึ่งแน่นอนว่ามันชวนให้เรานึกถึงเวลาหรือสถานการณ์ที่เธอได้ใช้ไปกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ผ่านมาตลอดหลายปี
แม้กลุ่มศิลปินจากกระแสธารของ Surrealism ในยุโรปได้จบการเคลื่อนไหวไปนานแล้ว แต่ความคิดสำคัญมากมายที่ถูกค้นคว้าจากศิลปิน Surrealist นั้นเปรียบกับห้องทดลองขนาดใหญ่ที่ไม่เคยถูกทิ้งให้รกร้าง ในทางกลับกันวิธีการอย่าง Surrealist ได้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปสู่การเคลื่อนไหวทางศิลปะอีกจำนวนมาก วิธีการสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งยังคงได้รับการต่อยอดและขยายความสู่ศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะวรรณกรรมและการวาดเส้นเชิงทดลองที่ยังเป็นประตูบานสำคัญให้ศิลปินรุ่นหลังได้เข้าไปค้นคว้าเพื่อปลดปล่อยอิสระของสัญชาติญาณความเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือกฏเกณฑ์ทางภาษา ผลงานของจิรัชยายังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราได้มีโอกาสกลับมาสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับท่วงทำนองทางศิลปะที่งดงามและเรียบง่ายด้วยนิยามสำคัญสองชนิด คือ “ชีวรูป” (biomorphism) และ “ภาวะอัตโนมัติ” (automatism) ที่ยังคงบทบาทสำคัญในผลงานของเธอ
การวาดเส้นที่ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเป็นกวีที่มีฉันทลักษณ์เฉพาะตัว ทุกลายเส้นร้อยเรียงสัมผัสกันไม่ต่างไปจากภาษาอักษรที่ได้รับการประพันธ์ ผลงานชุดนี้ยังคงเอกลักษณ์ให้นึกถึงกระบวนการวาดเส้นอัตโนมัติ (Automatic Drawing) กล่าวคือพื้นที่และเวลาของการวาดเส้นได้รับการอ้างอิงจากกระบวนการทำงาน รวมถึงสภาวะของศิลปินโดยตรง บทสนทนาย่อมพึ่งพาสภาพแวดล้อมเพื่อนำพาสารเหล่านั้นออกมา จนระนาบผืนผ้าใบดูราวกับมีอีกหนึ่งชั้นผิวเข้ามาปกคลุม เป็นเปลือก เป็นผิวหนังของระนาบ มีอาการของการห่มคลุมด้วยภาษาของการวาด จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนจะรู้สึกถึงความเป็นผืนผ้า สิ่งทอ หรือรูปทรงของบางสิ่งบางอย่างที่บอบบางกำลังห่มคลุมผืนผ้าใบนั้น และในผลงานหลายๆ ชิ้นยิ่งชวนให้นึกถึงม่านที่กำลังเคลื่อนย้ายตัวเองอยู่บนฉากของความว่างเปล่า
อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นว่าผลงานของจิรัชยาไร้การนำเสนอวัตถุ และภาพวาดเส้นสายเหล่านี้ก็ไม่ใช่ผลงานนามธรรมเช่นกัน ลายเส้นแสดงการร้อยเรียง เป็นหลักฐาน ร่องรอย หรือการมีอยู่ของบางสิ่ง ราวกับการบันทึกถ้อยคำสนทนา วลี หรือบทกวีที่กำลังสื่อสารถึงบางอย่าง การวาดเส้นธรรมดาได้กลายเป็นมิติที่เริ่มทับซ้อน และซับซ้อน ในขณะที่วิธีการนั้นเรียบง่ายกว่าที่ใครจะคาดคิด ข้อสันนิษฐานหลายประการที่ผ่านเข้ามาในผลงานของจิรัชยาช่วงหลายปีที่ผ่านมายิ่งเน้นย้ำว่าร่างกายศิลปินคือร่างทรงของกระบวนการทางจิต หรือเราอาจจะกล่าวว่าร่างกายนั้นมีความเป็น “สื่อ” การวาดแบบซ้ำๆ ของศิลปินเหมือนกับมีบางสิ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างเป็นระเบียบในสมาธิ เป็นการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับการจัดเรียงตัวของผลึก หรือการแตกตัวของเซลล์ ในแบบที่เราเรียกว่าชีวรูป (biomorphism) เผยให้เห็นระบบระเบียบ การเชื่อมต่อ และส่งผลไปสู่การเกิดรูปทรงอย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับผลงานชุดนี้ เมื่อจิรัชยาเปรียบทุกสายลายเส้นที่จรดปากการลงไปนั้นมีจังหวะเช่นเดียวกับลมหายใจ เข้า-ออก สัมพันธ์กับเวลาที่สลายไปในทุกวินาที ภาพที่เห็นจึงคล้ายกับการทดแทนกันระหว่างรูปทรงกับพลังงานชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งของศิลปิน
การวาดแบบอัตโนมัติเช่นนี้ ศิลปินเองไม่สามารถสร้างแบบร่างก่อนปฏิบัติงานได้ การทำงานในแต่ละครั้งจึงเหมือนกับการออกเดินทางที่มีทั้งการพลัดหลง การค้นพบ ความอ่อนล้า และความเข้มแข็ง ฯลฯ จนสิ่งที่หลบซ่อนอยู่จากภายในค่อยๆ ปรากฏออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ลายเส้นนำเสนอโลกที่เรามองไม่เห็น รูปทรงที่หลบซ่อนอยู่ในชีวิตของเรา สิ่งที่จิรัชยาวาดออกมายังมีนัยยะของปริมาณ ระดับ ลักษณะของความคงที่ สิ่งเหล่านี้เปรียบกับบันทึกในช่วงเวลาของชีวิต โดยไดอารี่ที่ถ่ายทอดทางการวาดเขียนนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ วินาทีราวกับข้อมูลสัญญาณชีพจรที่ส่งออกมาเป็นภาพ
มีคำกล่าวว่าศิลปะคือการสำรวจและแสดงออก เมื่อสังเกตธรรมชาติอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มเมฆ คลื่นทรายที่เรียงตัวเป็นรูปแบบเฉพาะด้วยแรงลม วิถีการกระเพื่อมเมื่อมีก้อนหินร่วงหล่นบนผิวน้ำ กระทั่งคลื่นทะเลที่แปรเปลี่ยนไปทุกวินาที ทุกสิ่งมีแบบแผนด้วยปัจจัยจากสภาพแวดล้อม ระบบบางอย่างสามารถสะท้อนออกมาจากการวาดเส้นโดยผ่านกลไกลึกลับในร่างกายของศิลปินหญิงผู้นี้ “ชีวรูป” และ “ภาวะอัตโนมัติ” กลายเป็นสองสิ่งที่มีหน้าที่สำคัญในผลงานของเธอ เพราะบางครั้งภาพวาดก็ไม่ได้จบบนผืนระนาบหรือสิ้นสุดด้วยการมอง แต่กระบวนการสร้างสรรค์ทั้งหมดกลับเป็นพาหะที่ผูกโยงให้ชีวิตของ จิรัชยา พริบไหว กลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะที่เธอสร้างอย่างแท้จริง

MEDIA :

...

WORK FIELDS :

WORK TAGS :

Calendar Coming soon
back
APRIL 2024
next
SU | MO | TU | WE | TH | FR | SA
banner
work work work work work work work work work
feature articles
back next
Copyright © 2012 Exhibiart | Terms and conditions | contact us
Share
facebook twitter